โขน-ละครโขล

วัฒนธรรมศิลปะการแสดงร่วม

Eng
Khon

โขนของประเทศไทย และละครโขลของประเทศกัมพูชา ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างคนทั้งสองชาติ เมื่อแต่ละประเทศต่างยื่นศิลปะการแสดงสวมหัวโขนของตนต่อองค์การยูเนสโกเพื่อการพิจารณาขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปี พ.ศ. 2559 และ 2560 ตามลำดับ

ทั้งโขนและละครโขล เป็นศิลปะการแสดงท่วงท่าที่มีการใส่หัวโขน โดยแสดงเรื่องราวจากวรรณกรรมเรื่องรามายณะ มีตัวแสดงหลักเหมือนกันคือ มนุษย์ ยักษ์ และลิง ลักษณะการเต้นและเครื่องแต่งกายมีลักษณะคล้ายกัน อีกทั้งยังมีผู้บรรยาย กลุ่มนักร้อง และวงดนตรีประกอบที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงเกิดคำถามขึ้นบนโลกออนไลน์ระหว่างคนทั้งสองชาติว่า ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของศิลปะการแสดงแขนงนี้

ประวัติศาสตร์ร่วมไทย-เขมร

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการแสดงละครรามายณะในประเทศไทยและกัมพูชาคือภาพสลักกำแพงหินของปราสาทนครวัดในช่วงศตวรรษที่ 10 ในเมืองเสียมเรียบ[1] ซึ่งอดีตคืออาณาจักรขอม ราชสำนักขอมมีความศรัทธาในศาสนาพราหมณ์จึงได้นำเอาฉากเรื่องราวจากรามายณะมาสลักบนกำแพง เรื่องรามายณะยังถูกนำมาใช้ในหนัวใหญ่ของขอม (Sbek Thom, Khmer shadow theatre) ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นละครโขลในยุครุ่งเรืองของนครวัด

ส่วนหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของโขนที่ปรากฏในสยามคือจดหมายเหตุลาลูแบร์ บันทึกของทูตจากฝรั่งเศสผู้มีโอกาสได้สังเกตูการณ์การแสดงที่มีการสวมหัวโขนในศตวรรษที่ 17 ยุคสมัยของพระนารายณ์มหาราช อย่างไรก็ตามมีความเชื่อกันว่า โขนนั้นวิวัฒนาการมาจากการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพิธีกรรมทางศาสนา-การเมืองในพระราชพิธีอินทราภิเษก ตามความเชื่อของลัทธิเทวราชของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู[2] ซึ่งทหารและข้าราชบริพารจะต้องแต่งเป็นยักษ์ และลิงจากเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อจำลองฉาก “กวนเกษียรสมุทร” ตามตำนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา[3]

การละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์นั้นได้รับอิทธิพลมาจากพิธีการในราชสำนักขอม อันมีหลักฐานปรากฏเป็นภาพสลักฉากกวนเกษียรสมุทร ซึ่งเป็นฉากการสู้รบในรามายณะบนระเบียงคดปราสาทนครวัด[4] เป็นที่ชัดเจนว่าในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ที่สยามรุกรานอาณาจักรขอม ได้มีการนำเอาศิลปะแบบขอม ศิลปินขอม รวมไปถึงระบบและพิธีของราชสำนักขอมกลับไปยังสยามด้วย[5] ทั้งการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ วรรณกรรมอันโด่งดังของสยามเรื่องโองการแช่งน้ำ และพิธีการราชสำนักสยามในสมัยอยุธยา ล้วนปรับใช้มาจากพิธีปฏิบัติของราชอาณาจักรขอมอย่างเห็นได้ชัด[6]

ในขณะที่โขนในราชสำนักสยามได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ศิลปะแขนงต่างๆ ของขอม รวมไปถึงละครโขลนั้นต่างเลือนหายจากการล่มสลายของอาณาจักรขอมในศตวรรษที่ 15 จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 นักองด้วง กษัตริย์กัมพูชา ได้พยายามฟื้นฟูศิลปะละครโขลโดยรับเอาอิทธิพลจากโขนในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงต้น อย่างไรก็ตามความนิยมของละครโขลก็สิ้นสุดลงเมื่อนักองด้วงสิ้นพระชนม์ อีกทั้งยังถูกกระทบจากการกวาดล้างทางวัฒนธรรมซ้ำอีกครั้งจากเขมรแดงในเวลาต่อมา

เนื้อเรื่อง ท่วงท่า และดนตรี

เนื้อเรื่องที่ใช้ในการแสดงโขนและละครโขล มาจากวรรณกรรมเพียงเรื่องเดียว คือเรื่องรามายณะจากอินเดีย โดยทั้งสองชาติต่างมีเรื่องราวรามายณะในแบบฉบับของตนเอง เรื่องรามายณะในไทยต่างรู้จักในชื่อ รามเกียรติ์ ซึ่งถูกราชนิพนธ์โดยกษัตริย์หลายพระองค์ เช่น พระเจ้าตากสิน พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในขณะที่แบบฉบับของเขมรมีชื่อว่า เรียมเกร์ (Reamker) ซึ่งสามารถสืบย้อนที่มากลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 10[7]

หนึ่งในท่าพื้นฐาน และการเคลื่อนไหวมาตรฐานของยักษ์ และลิง ทั้งในโขนและละครโขล คือท่าฉีกขา อาจมีที่มาจากลักษณะท่าทางของกบ เมื่อในอดีต 2500 ปีก่อน ผู้คนได้บูชากบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝน นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก โดยมีหลักฐานเป็นภาพวาดสีบนผนังถ้ำในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย[8]

องค์ประกอบดนตรีที่ใช้ในโขนและละครโขลมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก วงดนตรีพิณเพียต (Pinpeat) ของเขมรและวงดนตรีปี่พาทย์ของไทยเกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่น[9] อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่ารายละเอียดของดนตรีที่ใช้ในการแสดงมีความแตกต่างกันอย่างมาก บทบาทของเครื่องดนตรีในวงมีความแตกต่างกัน แนวทางการเล่นแตกต่างกัน แนวทำนองและสไตล์การเล่นมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน นอกจากนี้ต่างคนต่างใช้ภาษาของตนเอง โดยภาษาไทยนั้นมีระดับเสียงวรรณยุกต์ ในขณะที่ภาษาเขมรนั้นไม่มีระดับเสียง ความแตกต่างในจุดนี้เป็นสาเหตุให้ระบบและวิธีการขับร้องของเพลงไทยและเขมรมีความแตกต่างกัน รวมไปถึงธรรมชาติของเสียงที่แตกต่างกันในขณะที่ผู้บรรยายพากย์ขณะทำการแสดงย่อมส่งผลต่อท่วงท่าการเคลื่อนไหวของผู้แสดงในลักษณะที่ต่างกัน

บทบาทและความสำคัญ

บทบาทของละครโขลในช่วงนครวัดมีความเกี่ยงโยงกับพิธีการในราชสำนักขอม เช่นเดียวกับโขนในสมัยอยุธยาซึ่งมีบทบาทในราชสำนักสยาม โขนถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในราชสำนัก และต่อมาโขนในประเทศไทยได้เติบโตขยายออกนอกราชสำนักเข้าสู่สาธารณะชน ผู้หญิงเริ่มมีส่วนเกี่ยวข้องและสามารถแสดงบทมนุษย์ โขนได้กลายมาเป็นสื่อบันเทิงของคนทั่วไป โดยถูกนำมาแสดงในโรงละครและเวทีกลางแจ้ง อีกทั้งยังได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมไทย

ในส่วนของละครโขลซึ่งได้หมดความสำคัญไปจากราชสำนัก หลังจากการสิ้นพระชนม์ของนักองด้วง ในเวลาต่อมาละครโขลได้ถูกก่อร่างขึ้นอีกครั้งในบริบทของหมู่บ้าน[10] แต่ก็กระนั้นก็เกือบสูญหายในช่วงเขมรแดง แม้ว่าสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมของกัมพูชาได้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ละครโขล แต่มีเพียงหมู่บ้านเดียวที่รอดพ้นจากการกวาดล้างทางวัฒนธรรมของเขมรแดงและชาวบ้านยังคงสืบสานการแสดงละครโขลในชีวิตจริง

ละครโขลวัดสวายอันเด็ต (Lakhon Khol of Wat Svay Andet) เป็นคณะแสดงของวัด และมีบทบาทในชีวิตจริงของผู้คน โดยได้มีการแสดงในพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับฤดูเกี่ยวข้าวและชีวิตของเกษตรกร ละครโขลยังคงแสดงโดยผู้ชายทั้งหมด แต่กระนั้นละครโขลก็เป็นกิจกรรมที่ผู้คนทั้งหมู่บ้านทั้งชายและหญิงต่างมีส่วนร่วมทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

โขนและละครโขลเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่?

โขนและละครโขลมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน โขนได้รับอิทธิพลจากราชสำนักขอมในอดีต หลายศตวรรษต่อมาละครโขลได้รับอิทธิพลจากโขนในสมัยรัตนโกสินทร์ การที่ชาติใดชาติหนึ่งจะยึดความเป็นเจ้าของของศิลปะแขนงนี้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากศิลปะการแสดงแขนงนี้คือศิลปะร่วมของทั้งสองวัฒนธรรม นอกเหนือไปจากนี้ ศิลปะการแสดงสวมโขนไม่ได้ปรากฏที่ไทยและกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังปรากฏในประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โขนและละครโขลนั้นเป็นศิลปะการแสดงแขนงเดียวกันมีรากเดียวกัน แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โขนและละครโขลต่างมีรายละเอียดและเอกลักษณ์เฉพาะตน มีวิวัฒนาการในสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากเปรียบเทียบกับชนิดพันธุ์ของเมล็ดข้าว แม้จะเป็นข้าวเหมือนกัน ข้าวแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน และต่างมีลักษณะและรสชาติที่แตกต่างกัน

การถอดบทเรียนจากการถกเถียงความเป็นเจ้าของ

การที่ผู้คนของแต่ละชาติออกมาทวงความเป็นเจ้าของของศิลปะที่มีรากร่วมกันนั้นสะท้อนถึงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ภายใต้แนวคิดชาตินิยม ความเป็นชาติที่นิยามด้วยเส้นแบ่งเขตดินแดนและการเล่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เอนเอียงเข้าข้างตนเองนั้นเป็นปัญหา และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งภายในชุมชนอาเซียนหยั่งรากลึกลงไป ในความเป็นจริงนั้น ดินแดนของแต่ละชาติต่างเชื่อมติดกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือปราสาทหินพิมายในจังหวัดนครราชสีมาของไทยนั้นเป็นสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบขอม ทั้งยังมีภาพสลักตำนานรามายณะตั้งแต่ในศตวรรษที่ 10[11] จังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไทยในปัจจุบันนั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรขอมในอดีต

Southeast Asian Mask Dance

การเรียนประวัติศาสตร์โดยเน้นที่เรื่องราวของการเกิด การขยายตัว การเคลื่อนย้าย หรือการสูญสิ้นของผู้คน วัฒนธรรม อารยธรรม ในบริเวณนั้นๆ จึงมีความเหมาะสมกว่าการให้ความสำคัญกับเส้นแบ่งอาณาเขตดินแดนและใช้เพื่อแบ่งแยกวัฒนธรรม เช่นเดียวกับการศึกษาศิลปะดนตรีในแถบอาเซียนและอารยธรรมสุวรรณภูมินั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมองไปที่บริบทโดยรวมของทั้งภูมิภาค

ความขัดแย้งจากการขึ้นทะเบียนยูเนสโก สื่อ และในอนาคตข้างหน้า

หากพิจารณารายละเอียดของการขึ้นทะเบียนของโขนแะละครโขลจะเห็นว่าไม่มีประเด็นไหนเลยที่จะต้องมาแย่งชิงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ โขนของไทยได้รับขึ้นทะเบียนยูเนสโกในปี 2560 ในรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Resentative list)[12] ส่วนโขลวัดสวายอันเด็ตของกัมพูชาได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2561 ในหมวดรายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (List of ICH in Need of Urgent Safeguarding)[13] เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะหายสาบสูญ ในส่วนของยูเนสโกนั้นก็ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ของศิลปะการแสดงนี้แก่ชาติใดชาติหนึ่ง แต่ทำหน้าที่เน้นย้ำความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมนี้ต่อประชาคมโลก

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากประเทศในอาเซียนต่างมีวัฒนธรรมร่วม และมีศิลปะแขนงต่างๆที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น วงปี่พาทย์ของไทย และวงพิณเพียตของเขมร ยูเนสโกในฐานะองค์การระดับสหประชาชาติควรตระหนักถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างสองประเทศ รวมไปถึงควรรับรู้เกี่ยวกับศิลปะของอาเซียนที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้สื่อต่างๆควรที่จะนำเสนอมุมมองที่เหมาะสมเมื่อมีการโต้แย้งประเด็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติใดชาติหนึ่ง

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการร่วมมือกันระหว่างศิลปิน นักดนตรี ครู และองค์กรในอาเซียนจะเป็นกุญแจในการส่งเสริมศิลปะแขนงนี้ให้ยังคงเจริญงอกงามในสภาพแวดล้อมและบริบทของยุคโลกาภิวัฒน์ มิเช่นนั้นแล้วการนั่งเถียงกันว่าศิลปะชนิดนี้เป็นของใครจะไม่มีความหมายใดๆเลย หากปราศจากคนดูคนฟังที่ยังซาบซึ้งและชื่นชมศิลปะการแสดงนี้อย่างแท้จริง



Endnotes

  1. สุจิตต์ วงษ์เทศ, “โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน ไม่เป็นของใครฝ่ายเดียว หรือพวกเดียว,” มติชนออนไลน์ 7 มิถุนายน 2559, matichon.co.th/columnists/news_164697.
  2. สุจิตต์ วงษ์เทศ, “ชักนาคดึกดำบรรพ์ ต้นทางโขน ศาสนา-การเมือง ในอินทราภิเษก,” มติชนออนไลน์ 10 - 16 พฤษภาคม 2562, https://www.matichonweekly.com/column/article_193715.
  3. “Khon: the Masked Pantomime,” Asian Traditional Theatre and Dance, Theatre Academy of the University of the Arts Helsinki, accessed July 3, 2021, https://disco.teak.fi/asia/khon-the-masked-pantomime/.
  4. วงษ์เทศ, “ชักนาคดึกดำบรรพ์.”
  5. Sam-ang Sam, “the Pin Peat Ensemble: its History, Music, and Context” (PhD diss., Wesleyan University, 1988), 18.
  6. Wongthes, “Khon is a Shared Culture of ASEAN.”
  7. “Reamker: the Cambodian Version of Ramayana,” Center for Global Education, Asia Society, accessed July 3, 2021, https://asiasociety.org/education/reamker.
  8. วงษ์เทศ, “โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน.”
  9. Terry Miller, and Sam-ang Sam, “The Classical Music of Cambodia and Thailand: The Study of Distinctions,” Ethnomusicology 39, no. 2 (Spring-Summer, 1995): 232-233.
  10. “Lakhon Khol,” Asian Traditional Theatre and Dance, Theatre Academy of the University of the Arts Helsinki, accessed July 3, 2021, https://disco.teak.fi/asia/lakhon-khol-2/.
  11. สุจิตต์ วงษ์เทศ, “ลุ่มน้ำมูล แหล่งเดิมบรรพชนขอมกัมพูชา,” มติชนออนไลน์ 31 มีนาคม 2559, https://www.matichon.co.th/columnists/news_90821.
  12. “Khon, Masked Dance Drama in Thailand,” UNESCO Intangible Cultural Heritage, accessed July 3, 2021, https://ich.unesco.org/en/RL/khon-masked-dance-drama-in-thailand-01385.
  13. “Lkhon Khol Wat Svay Andet,” UNESCO Intangible Cultural Heritage, accessed July 3, 2021, https://ich.unesco.org/en/USL/lkhon-khol-wat-svay-andet-01374.